วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

365ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย



ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า (Motemor-o-velho) ใกล้เมืองกูอิงบรา (Coinbre)ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึแปดรา การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว ขณะมีอายุได้ 28 ปี

ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรื่องอับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้ง และถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตหรือนักสอนศาสนา ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ. 1548 ครั้งที่2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็กพระไชยราชาธิราช (ค.ศ. 1534-1546) หลักปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือ ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่1 ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จแทนบิดา

งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว ปินโตระบุว่า การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น มิได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความท้อถอยในการติดต่อกับดินแดนแถบเอเชีย เขาระบุว่าอุทิศการทำงานให้แก่พระเจ้ามิได้หวังชื่อเสียง สิ่งที่ผลักดันให้เขาเดินทางไปยังตะวันออก คือ ธรรมชาติของลูกชาย เพื่อทัศนศึกษาดินแดนต่างๆในโลกกว้างและเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ "คนป่าเถื่อน" จุดมุ่งหมายที่จริงจังของปินโตและโคแกนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ สถานที่ ทรัพยากรอารมณ์ ความรู้สึกและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนที่ปรากฏในหนังสือ

คุณค่าทางประวติศาสตร์เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม
บันทึกของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฏหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตรวรรษที่16 และมักจะถูกอ้างอิงเสมอเมื่อกล่าวถึงบทบาทการทหารของชุมชนโปรตุเกส เรื่องราวในหนังสือ สอดคล้องกับงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสหลายคน อาทิ การกล่าวถึง โดมิงกุส ดึ ไซซัส นอกจากนี้ อี.ดับเบิ้ลยู. ฮัทชินสัน ก็อ้างตามหลักฐานของปินโตว่า "ทหารโปรตุเกสจำนวน120คนซึ่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงเจ้าเป็นทหารรักษา พระองค์ได้สอนให้ชาวสยามรู้จักใช้ปืนใหญ่"
ความน่าเชื่อถือ
หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง งานเขียนของปินโตบางส่วนมีรูปแบบเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคล และปินโตยังยืนยันว่าเขาได้รับจดหมายฝากฝังจากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัว เพื่อให้ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชินีแคเธอรีนแห่งโปรตุเกส แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอ้างอิงพยานบุคคลของเขา
หลักฐานของปินโตกับปัญหาในการศึกษาชุมชนโปรตุเกสสมัยอยุธยา
ความสัมพันธ์ของคนภายในค่าย ความสัมพันธ์ของคนระหว่างค่ายโปรตุเกสกับราชสำนักอยุธยา ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับมะละกา กัว มาเก๊า รวมไปถึงอาชีพ จำนวนคนและความเป็นอยู่ในค่ายโปรตุเกสสมัยอยุธยา ก็อาจต้องใช้ความพยายามในการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานชิ้นนี้มากพอควร
สรุป
ผู้เขียนเห็นว่างานนิพนธ์ของปินโตมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกหรือนิยายผจญภัยของกลาสีเรือ แม้เนื้อหาบางตอนจะดูตื่นเต้นเร้าใจเกินกว่าจะมีความสมจริงตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ ข้อถกเถียงในงานของปินโตอาจจะดูมีอยู่ไม่น้อย แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใดบ้างที่ปราศจากคำถามและความเคลือบแคลง
งานของปินโตถูกตั้งขอสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของศักราชก็เพราะบันทึกของเขาเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความทรงจำเมื่อเขาเดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโปรตุเกสระยะหนึ่งแล้ว ในทางกลับกันอาจจะมีผู้ใช้บันทึกของปินโตมาตรวจสอบความแม่นยำของเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างจริงจังในอนาคตบ้างก็ได้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น